USA

แอนโธนี่ โบเวนส์ : ผู้พิสูจน์ว่าการเป็น LGBTQ+ พิชิตมวยปล้ำชายได้

10-11-2022
3นาทีที่อ่าน
SN Illustration

มวยปล้ำ อาจเป็นกีฬาผสมความบันเทิงที่แสดงถึงความแข็งแรงของนักกีฬา จนหลายคนคิดว่าเป็นกีฬาที่มีแต่ชายและหญิงแท้เท่านั้น

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ที่คนทั่วไปเปิดใจให้กับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้มีนักมวยปล้ำหลายคนสามารถเปิดเผยตนเองได้มากขึ้น บางคนประสบความสำเร็จจนกระทั่งเป็นแชมป์โลกฝ่ายหญิง แต่สำหรับฝ่ายชายยังต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่ง ถึงจะสามารถคว้าแชมป์หลักของสถาบันได้สำเร็จ

ชื่อของเขา คือ “แอนโธนี่ โบเวนส์” หนึ่งในคู่หูแท็กทีม “The Acclaimed” แชมป์แท็กทีมของ All Elite Wrestling (AEW)

เป็นนักมวยปล้ำต้องปกปิดตัวตน

ในสมัยที่ยังไม่มีในโซเชียลมีเดีย แฟนมวยปล้ำไม่สามารถแยกแยะคาแรกเตอร์ของนักมวยปล้ำกับชีวิตได้อย่างชัดเจน 

เราไม่สามารถแยกออกว่าดิ อันเดอร์เทกเกอร์ ที่ดูน่ากลัวเหมือนผุดขึ้นมาจากสุสาน หรือ แก๊งสเตอร์อเมริกันขี่มอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ เดวิดสัน คือคนเดียวกับชายธรรมดาที่ชื่อมาร์ค คัลลาเวย์ 

เราไม่รู้ว่านักมวยปล้ำร่างใหญ่ราวนักซูโม่จากแดนอาทิตย์อุทัยชื่อ โยโกสุนะ จริงๆแล้วเป็นคนซามัว 
เราเพิ่งรู้ว่า ชายชุดแดงสวมหน้ากากไว้ผมยาวชอบจุดไฟบนเวที คือ คนเดียวกับเกล็น จาคอบส์ ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นนายกเทศมนตรีแห่งน็อกซ์ เคาน์ตี้ ในรัฐเทนเนสซี่

เราเพิ่งรู้ว่าชายร่างใหญ่ผู้รักครอบครัว คือคนเดียวกับจอมโหดบนเวที อย่าง บรูสเซอร์ โบรดี้ ผู้ล่วงลับ

เพราะฉะนั้นนักมวยปล้ำในอดีตจนถึงยุค 2000 จึงจำเป็นต้องรักษาคาแรกเตอร์ของตนเองให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาฐานนิยมเอาไว้ อันนำมาซึ่งรายได้ของตนเองในอนาคต

ยุคสมัยแห่งการเปิดเผย

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของโลกโซเชียล แฟนมวยปล้ำสามารถเข้าถึงชีวิตของนักมวยปล้ำได้มากขึ้น แฟน ๆ มีโอกาสได้รู้เรื่องราวส่วนตัวของพวกเขา มากกว่าที่เห็นผ่านแค่ทางหน้าจอโทรทัศน์ หรือบนสังเวียนมวยปล้ำ ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ค, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ รวมไปถึง ติ๊กตอก เปิดการใช้งาน นักมวยปล้ำหลายคนเริ่มใช้สื่อสาธารณะเปิดเผยความคิด และไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากขึ้น 

ซึ่งเมื่อนักมวยปล้ำได้แสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเวลาผ่านไปเมื่อเกิดกระแสเรียกร้องเสรีภาพทางเพจออกมา ทำให้นักมวยปล้ำรุ่นใหม่กล้าที่จะเปิดเผยเพศสภาพที่แท้จริงของตัวเองออกมามากขึ้น

โดยกรณีคลาสสิค คือกรณีของ ดาร์เรน ยัง (ปัจจุบันใช้ชื่อปล้ำว่า เฟร็ด รอสเซอร์) นักมวยปล้ำชายที่ออกมาเปิดเผยว่าตัวเองมีรสนิยมทางเพศแบบเกย์ ในปี 2013 ซึ่งเขาถือเป็นนักมวยปล้ำคนแรกที่เปิดเผยเพศภาพที่ไม่ใช่ชายรักหญิง หรือหญิงรักชาย ออกมาเป็นคนแรกขณะที่ปล้ำอยู่กับ WWE

NJPW

จุดเริ่มต้นตรงนั้น ทำให้นักมวยปล้ำคนอื่นเริ่มกล้าที่จะออกมาประกาศตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ 

ถึงเวลา LGBTQ+ เฉิดฉาย

เมื่อนักมวยปล้ำ LGBTQ+ มีโอกาสได้ขึ้นปล้ำ โดยไม่ต้องสวมบทบาทเป็นตลกอีกต่อไป พวกเขาจึงสามารถแสดงศักยภาพเป็นแชมป์ ได้รับการผลักดันจากสมาคม เช่น ดาร์เรน ยัง ที่เคยคว้าแชมป์แท็กทีมของ WWE เป็นระยะเวลา 70 วัน หรือไนล่า โรส ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศคนแรกที่คว้าแชมป์โลกหญิงของ AEW มาครองในช่วงกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2020

ส่วนลีกมวยปล้ำชาย มีซอนนี่ คิสส์ ผู้นิยามตัวเองว่า เป็นผู้ลื่นไหลทางเพศ เคยมีชิงแชมป์ TNT จากโคดี้ โรดส์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงมีโอกาสได้ชิงแชมป์โลก AEW แต่แพ้ให้กับเคนนี่ โอเมก้า 

หลังจากที่คิสส์ล้มเหลวในการชิงแชมป์ มีชายคนหนึ่งที่สามารถสร้างประวัติศาสตร์ด้วยเป็น LGBTQ+ คนแรกที่คว้าแชมป์เส้นหลักของ AEW ได้สำเร็จ

จากนักเบสบอลสู่นักมวยปล้ำ

ชีวิตแอนโธนี่ โบเวนส์ เหมือนวัยรุ่นชายชาวอเมริกันทั่วไป เขาเป็นนักกีฬาเบสบอลระดับมหาวิทยาลัย ก่อนพัฒนาร่างกายและทักษะมวยปล้ำจนมีโอกาสได้ไปทดสอบกับ WWE ในปี 2015 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงไปปล้ำตามค่ายมวยปล้ำเล็กๆ แม้ในบางเกมต้องไปปล้ำที่อลาสก้าก็ตาม

ระหว่างที่เขาปล้ำกับสมาคมเล็กๆทั่วสหรัฐอเมริกา เขาได้พบรักไมเคิล ปาวาโน นักแสดงและยูทูบเบอร์ ซึ่งในตอนแรกเขาเก็บเรื่องที่เขาชอบผู้ชายด้วยกันเป็นความลับ แต่หลังจากที่คุยกับเพื่อนร่วมอาชีพ ได้แนะนำให้เขาเปิดตัวผ่านสื่อ 

ซึ่งในตอนแรกเขาประกาศตัวเป็นไบเซ็กชวลในปี 2017 ต่อด้วยประกาศว่าเป็นเกย์ในอีก 2 ปีต่อมา แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้าน แต่โบเวนส์ยังคงเชื่อมั่นในตัวเองที่ตัดสินใจถูกต้องที่เปิดเผยตัวตนออกมา

Scroll to Continue with Content

เขาได้รับโอกาสทดสอบทักษะในค่ายของเบรต ฮาร์ท อดีตนักมวยปล้ำชื่อดัง และทำให้เขาได้พัฒนาตนเองเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ จนเข้าตาโทนี่ ข่าน ประธาน AEW และได้ชักชวนให้มาปล้ำค่ายนี้ และตั้งแท็คทีมขึ้นมาใหม่ โดยจับคู่กับแม็กซ์ แคสเตอร์ ในนามของ “The Acclaimed”

Getty Images

The Acclaimed have arrived

ในเดือนตุลาคม 2020 The Acclaimed ได้ถือกำเนิดขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกหลัก 2 คน ได้แก่ แม็กซ์ แคสเตอร์ (Max Caster) แร็ปเปอร์ประจำวงคอยดิสเครดิตคู่แข่ง กับแอนโธนี่ โบเวนส์ (Anthony Bowens) นักกล้ามร่างใหญ่ถือลำโพงขนาดใหญ่ มีหน้าที่เรียกเสียงเชียร์จากคนดูด้วยการตะโกนชื่อสถานที่จัดการแข่งขันในแตละสัปดาห์ ต่อมา โทนี่ ข่าน ประธาน AEW ประทับใจในผลงานทั้ง 2 คน จึงเซ็นสัญญาเป็นเวลา 5 ปี 

ในตอนแรก ดิ แอคเคลม มีสถานะเป็นฝ่ายอธรรม แต่ด้วยเสน่ห์ที่ล้นเหลือของ The Acclaimed ทำให้ในเวลาต่อมาพวกเขาได้รับการพลิกเป็นฝั่งธรรมะ และกลายเป็นหนึ่งในแท็กทีมที่โด่งดังที่สุดของ AEW

แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ The Acclaimed จะก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์ พวกเขามาจากศูนย์ เพราะไม่เคยปล้ำในสมาคมใหญ่มาก่อน ต้องเริ่มสร้างชื่อเสียงเองทั้งหมด 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นไปอย่างถูกต้อง คือการเปิดเผยตัวเป็น LGBTQ+ ของโบเวนส์ ไม่เคยส่งผลกระทบต่อ The Acclaimed เลย ในทางตรงกันข้าม โบเวนส์กลับยิ่งโชว์ฟอร์มการปล้ำที่ยอดเยี่ยม จนได้รับคำชมจากแฟนมวยปล้ำหลายต่อหลายครั้ง

สุดท้าย The Acclaimed ก็สามารถสร้างชื่อให้ตัวเองได้สำเร็จ ด้วยการเอาชนะ สเวิร์ฟ สตริคแลนด์ และ คีธ ลีก คว้าแชมป์ AEW แท็กทีมมาครองได้สำเร็จ ในรายการ AEW Dynamite Grand Slam ณ สนามอาเธอร์ แอช รัฐนิวยอร์ก เมื่อวันที ่22 กันยายน 

ซึ่งเปรียบเสมือนการคว้าแชมป์ในบ้านเกิดของทั้งสองคน (แคสเตอร์เกิดที่นิวยอร์ก โบเวนส์เกิดที่นิวเจอร์ซีย์ รัฐใกล้เคียงของนิวยอร์ก) และโบเวนส์ได้ประกาศว่าเขาเป็นเกย์คนแรกที่ได้แชมป์เส้นหลักของ AEW มาครอง

หลังคว้าแชมป์โลก โบเวนส์ได้พูดถึงความรู้สึกหลังได้แชมป์โลกแท็กทีมว่า

“บางคนก็รู้ บางคนก็ไม่รู้ ว่าผมไม่มีโอกาสพูดต่อหน้ากล้องแบบนี้บ่อยครั้งเท่าไหร่นัก ผมไม่คิดไม่ฝันว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะผ่านช่วงเวลาที่สับสนมากมายในชีวิต ผมไม่รู้ว่าจะยอมรับตัวเองอย่างไร ผมต่อสู้อย่างกระทิงเปลี่ยว และตอนนี้ผมร้องไห้ได้แล้วในฐานะแชมป์”

“ถ้าคุณรู้สึกแบบเดียวกับผม จะเพศไหนก็ไม่สำคัญหรอก ลองคิดดูว่าถ้าชีวิตคุณเศร้า คุณโดนรังแก วันๆเจอแต่เรื่องแย่ๆ อยากให้รู้ไว้ สักวันจะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน เราพิสูจน์แล้ว”

“ผมรักคุณ เรารุักคุณ และแน่นอนทุกคนรัก ดิ แอคเคลม”

วันต่อมา โบเวนส์ได้เขียนข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัวของตน อุทิศแชมป์นี้ให้กับคุณยายที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2015 และแสดงความภาคภูมิใจในฐานะ LGBTQ+

“ตั้งแต่คุณยายผมจากไปในปี 2015 ผมตั้งใจว่าจะประสบความสำเร็จให้ได้
ในวันนี้ผมเป็นเกย์คนแรกที่คว้าแชมป์ของ AEW

แท็กทีมที่ชนะมากที่สุดใน AEW
ทีมมวยปล้ำยอดนิยมที่สุด ค.ศ. นี้

ทุกคนรักดิ แอคเคลม พวกคุณคือ #แชมป์ตลอดกาล”

Getty Images

นอกจากจะได้แชมป์แท็กทีมแล้ว ความนิยมในดิ แอคเคลมเพิ่มสูงขึ้น ท่าดีใจ Scrissor Me กลายเป็นท่ายอดนิยมหลังวันคว้าแชมป์โลก จนเกิดกระแสแฮชแท็ค #NationalScissoringDay ในระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ เสื้อของดิ แอคเคลม ในเว็บไซต์ของ AEW ยังมียอดสั่งซื้อเป็นลำดับต้นๆของสมาคมอีกด้วย 

การคว้าแชมป์ของโบเวนส์และดิ แอคเคลม แสดงให้เห็นว่า การจะเป็นเพศใดนั้นไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่คาแรกเตอร์ที่โดดเด่น ทักษะมวยปล้ำที่ชัดเจน และเอาชนะใจคนดูเป็นสำคัญ ถ้าหากไม่มี 3 สิ่งเหล่านี้ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในวงการมวยปล้ำได้