นักกีฬาบาสเกตบอลก็คืออาชีพหนึ่งที่ใช้ทักษะและความสามารถในการเลี้ยงชีพ หากคุณเป็นนักกีฬาที่โด่งดังมาก ๆ ตัวเลขของรายได้ก็อาจจะสูงพอจนใช้ชีวิตได้อย่างสบาย แต่สำหรับนักกีฬาหลายคนที่ยังอยู่ในช่วงการพิสูจน์ตัวเอง พวกเขายังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานอย่างหนักภายใต้โอกาสในการแสดงความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัด การสวนทางกันของสองสิ่งนี้คือสิ่งที่ยากสำหรับคนวัยทำงานในทุกวงการ
NBA LEAGUE PASS สมัครเพื่อชมการแข่งขันเอ็นบีเอสดทุกนัด คลิกเลย
และสำหรับนักบาสชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ ยูตะ วาตานาเบะ เขากำลังใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า สำหรับการลงเล่นให้กับ บรูคลิน เน็ตส์ ทีมในศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ สหรัฐฯ
อะไหล่ชั้นดี ที่เกิดจากการเลือกดิ้นรนในช่วงวิกฤต
ผลงาน 3 เกมล่าสุดของ วาตานาเบะ แทบจะทำให้เราลืมไปเลยว่า เขาเซ็นสัญญาเขามาสู่ทีมเน็ตส์ ด้วยความรู้สึกที่ไม่มั่นคงเลย เพราะคำว่าสัญญาแบบไม่การันตีในวงการยัดห่วงสหรัฐฯ นั้นหมายถึง ทีมสามารถที่จะปล่อยตัวผู้เล่นคนดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแบบเต็มจำนวนตามที่ตกลง
“ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นและการแสดงความยินดี อย่างไรก็ตามนี่เป็นสัญญาที่ยังไม่รับประกัน (non guaranteed contracts) แต่ผมก็จะทำให้ดีที่สุด” การโพสต์ของ วาตานาเบะ หลังจากที่เขาได้รับสัญญาจากทีมเน็ตส์ ในช่วงปิดฤดูกาล
จากผู้เล่นที่หัวใจตุ๊มๆ ต่อม ๆ ต้องลุ้นว่าจะสร้างโอกาสติดทีมได้หรือไม่ เพราะหากเขาหลุดจากการเป็นผู้เล่นทีมเน็ตส์ เขาไม่สามารถที่จะเป็นผู้เล่นทูเวย์ของทีมได้แล้ว ด้วยประสบการณ์ในลีกที่มากเกิน 4 ปี
สถานการณ์ของ ยูตะ ในเวลานั้น คงไม่ต่างจากชีวิตของชาวไทยเราในช่วง 3 ปีตั้งแต่โควิด-19 ระเบิด เด็ก ๆ จบใหม่ กับการหางานกลายเป็นทางเดินที่ก้าวไปได้ยากขึ้น รวมถึงคนที่คิดจะเปลี่ยนงาน หรือเริ่มต้นใหม่กับธุรกิจ เพราะความไม่แน่นอน แล้วปัจจัยที่กดดัน ณ ช่วงเวลานั้นที่มากกว่าปกติ
วาตานาเบะ ก็ต้องเคยเลือกว่าจะลุยต่อกับ NBA หรือเอาเซฟโซนที่ปลอดภัยในจีลีก แต่เพราะการได้สติคืนมาจากจังหวะจมของชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจได้ไม่ยากว่า ชีวิตมันก็ต้องดิ้นรนกันอีกที
ตัดภาพกลับมาที่ผลงาน 3 เกมหลังสุด (วันที่ 19 พฤศจิกายน) ฟอร์เวิร์ดชาวญี่ปุ่นทำคะแนนเฉลี่ย 14 แต้ม จากการชู้ตลงระดับ 60.8% ระยะ 3 คะแนนแม่นถึง 57.1% รีบาวด์เฉลี่ย 4.6 ครั้งต่อเกม จากเวลาลงสนามเฉลี่ย 23.6 นาที
ตัวเลข 23.6 นาที เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นเลยว่า ชาค วอห์น และทีมงานโค้ชของเน็ตส์ ไว้วางใจเขาในระดับเกินคำว่าตัวประกอบทั่วไป
และ ตลอดทั้ง 13 เกม ที่เขาได้ลงเล่นในฤดูกาลนี้ เขาลงสนามเฉลี่ย 17.7 นาที ทำ 7.5 คะแนน กับ 2.9 รีบาวด์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่เลวเลย กับผู้เล่นที่ถูกคาดหวังให้มาทำหน้าที่เกมป้องกันเป็นหลัก
เช่นเดียวกับการทำงาน บางครั้งคนเราไม่จำเป็นต้องอยู่ในส่วนที่สำคัญ หรือ โดดเด่นที่สุด แต่ก็สามารถเป็นบุคลากรที่สังคมหนึ่งอาจขาดคุณไม่ได้เช่นกัน
ยูตะ วาตานาเบะ : นักบาสที่เกือบปล่อยให้ความท้อปิดประตูโอกาสครั้งใหญ่ในชีวิต
ให้เกียรติและเต็มที่กับบทบาทของตัวเอง แบบ วาตานาเบะ
ลูกผู้ชายต้องรักษาสัญญา และ ดูเหมือนว่า วาตานาเบะ จะเป็นผู้ชายที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ
“ในทีมนี้มีผู้เล่นมากมายที่เล่นแบบตัวต่อตัวได้เก่งมาก ซึ่งไม่ใช่ผมเลย ดังนั้นผมจึงต้องงัดเอาจุดเด่นอื่นมาทำประโยชน์ให้กับทีมซึ่งจะช่วยให้บทบาทของผมชัดเจนยิ่งขึ้น” สิ่งที่ วาตานาเบะ เคยกล่าวเอาไว้ ซึ่งครั้งที่ เน็ตส์ ดึงตัวเขามาร่วมทีม สตีฟ แนช อดีตเฮดโค้ช ได้ชื่นชมว่า วาตานาเบะ เป็นผู้เล่นที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเกมป้องกันให้กับทีม
ปรากฏว่าการอยู่ในสนามของ วาตานาเบะ ช่วยสร้างอิทธิพลในเกมรับได้อย่างดี แม้ว่าหลาย ๆ เกม เราจะเห็นทั้งทีมเน็ตส์ เสียแต้มในระดับสูง แต่หากเรามองกันที่ประสิทธิภาพส่วนตัว เขาทำได้ไม่เลวเลย
สถิติก่อนเกมที่ เน็ตส์ จะโดน ซาคราเมนโต คิงส์ ถลุงใส่ 153 คะแนน เปิดเผยว่า ผู้เล่นที่พยายามบุกเข้าหาห่วงแล้วเจอการป้องกันของ วาตานาเบะ จะมีอัตราชู้ตที่แย่กว่าปกติ 9.7% ตัวเลขดังกล่าวติดอยู่ระดับท็อป 81 คนแรกของลีก ตัวเลขสูงสุดเป็นของ ไมลส์ เทอร์เนอร์ ซึ่งมีสถิติอยู่ที่ -14% หรือ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามชู้ตแย่ลลง 14% เมื่อมีเข้าป้องกันพื้นที่ใต้แป้น
นั่นเกิดจากการที่เขาพยายามเคลื่อนที่ตลอดเวลา ท้าทายผู้เล่นฝ่ายรุกในทุกจังหวะชู้ต แม้จะไปไม่ทันเขาจะเคลื่อนที่เขาหาให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างการรบกวนสมาธิและจังหวะของทีมบุก
“ท้ายที่สุดแล้วบทบาทของผมคือการทุ่มเททุกช่วงเวลาที่อยู่ในสนามและสร้างความแข็งแกร่งให้กับเกมรับ ทีมนี้มีผู้เล่นมากมายที่สามารถทำสกอร์ได้ ผมเองก็ต้องค้นหาสิ่งที่ผมต้องทำเพื่อทีมให้ได้เร็วที่สุด และใช้สิ่งนั้นเป็นจุดแข็งที่ทำให้ทีมต้องการผู้เล่นแบบผม”
วาตานาเบะ ไม่ลืมคำสัมภาษณ์ที่เขาเคยให้ไว้แม้แต่น้อยเลย และการทำตามคำมั่นดูจะเป็นสิ่งที่มักหายากในชีวิตวัยทำงานที่ต้องดิ้นรน แย่งชิง หรือ เอาชนะกันและกันอยู่เสมอ แต่ชายคนนี้เขาแค่กำลังแข่งกับตัวเองเท่านั้น
ยูตะ วาตานาเบะ: นักบาสญี่ปุ่นที่ต้องสู้เพื่อโอกาสเคียงข้างบิ๊กทรีแห่ง NBA
รู้ตัว ปรับปรุง และ ไม่ดันทุรัง
สิ่งหนึ่งที่ยากในชีวิตจริงสำหรับคนวัยทำงานคงหนีไม่พ้นการรู้ตัวและยอมรับว่าตนเองมีจุดอ่อนอะไร บางคนใช้วิธีบ่ายเบี่ยง หรือ หาข้ออ้าง บ้างก็เอาจุดแข็งด้านอื่นของตัวมากลบเกลื่อน แต่สำหรับ วาตานาเบะ คงไม่ต้องการทำแบบนั้น เมื่อเส้นทางอาชีพของเขาแขวนอยู่บนเส้นดาย
“ผมสามารถชู้ตได้ในระดับ 40% แต่เมื่อต้องอยู่บนม้านั่งสำรองบ่อย แล้วต้องลงไปชู้ตในช่วงเวลาท้ายๆมันยากอยู่นะ ผมคิดว่าผมมีความสามารถในการชู้ตที่ดีกว่านี้ แต่ผมไม่มีเวลามาแก้ตัว นี่คือโลกที่ผมต้องสร้างผลงานภายในเวลาที่จำกัด”
เขายอมรับว่าตนเองทำได้ไม่ดีนัก อาจเพราะสนิมจับจากการถูกใส่สนับก้นไว้บนม้านั่งสำรอง แต่ตอนนี้เขาพิสูจน์แล้วว่า เมื่อได้โอกาสลงเล่นอย่างต่อเนื่องเขาสามารถทำอะไรให้กับทีมได้บ้าง
อีกส่วนสำคัญที่ช่วยให้เขามีฟอร์มการชู้ตที่ดีมาจากการเลือกจังหวะชู้ตที่ไม่ยากนัก แต่อดทนรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อการปล่อยบอลที่แม่นยำขึ้น นั่นทำให้ค่า eFG% ซึ่งใช้วัดคุณภาพของฟิลด์โกลที่ชู้ตออกไปอยู่ที่ 76.7% ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่า 96% ของผู้เล่นในลีก
และค่า TOV% หรือ อัตราเสียเทิร์นโอเวอร์ต่อการมีส่วนในเกมบุกของเขาอยู่ที่ 5.13% เท่านั้น เป็นตัวเลขที่น้อยกว่าผู้เล่นอีก 87% ของลีก นั่นแปลว่า เขาทำในสิ่งที่มีประสิทธิภาพให้กับทีมในเกมบุก โดยทำให้ทีมได้รับผลเสียน้อยมาก ๆ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้เลยหากระบบความคิดของนักกีฬาคนนั้น ไม่ได้ถูกขัดเกลาให้มีมุมมองความเสียสละ ไม่ทำสิ่งเกินตัว และ ผลกระทบต่อภาพรวมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด
เปรียบกับชีวิตคนวัยทำงาน บางคนยังไม่ทันเก่งหรือโดดเด่น ก็มักจะอยากทำอะไรเกินตัว ถ้าหากเรามีคนเช่นนั้นอยู่เต็มไปหมด การพยายามที่มากเกินไปและไม่สอดคล้องกับความสามารถ อาจกลายเป็นอาวุธที่ย้อนกลับมาทำลายองค์กรของตัวเอง
แต่ที่แน่ ๆ วาตานาบะ ไม่ใช่คนวัยทำงานเช่นนั้นแน่นอน
เปิด 2 สถิติของ ยูตะ วาตานาเบะ ใน NBA 2022-23 ซึ่งเป็นสิ่งที่ เน็ตส์ ขาดไม่ได้