DREAM STADIUM : ถึงเวลามอบโอกาสและสร้างฝันเด็กไทยให้กลายเป็นจริง

08-06-2023
2นาทีที่อ่าน
think curve

เด็กไทยมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลกันกี่คน? 

think curve

ยากที่จะคาดการณ์จำนวน แต่ผมเชื่อว่า ถ้าคุณถามเด็ก ๆ ที่ยังอยู่ในวัยที่มีความฝัน ผมคิดว่าทุกซอย หรือทุกหมู่บ้าน ต้องมีอย่างน้อย 1 คนที่มีความฝันในวัยเด็ก อยากเป็นนักฟุตบอล

คำถามคือ มีเด็กกี่คนที่มีโอกาสได้ลองเดินตามฝันจริง ๆ ในการเป็นนักฟุตบอล? 

เราไม่พูดถึงว่ามีกี่คนที่ได้เป็นนักฟุตบอลจริง ๆ เพราะการเป็นนักฟุตบอลไม่ใช่ว่าใครก็เป็นได้ จะต้องผ่านการคัดเลือกคัดตัวมากมาย ฝึกสอนทักษะต่าง ๆ กว่าจะได้ลงสนามระดับเยาวชน ผ่านบททดสอบจนกลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพจริง ๆ

แต่เราพูดถึง “โอกาส” ของเด็กสักคนที่มีโอกาสจริง ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าสู่เส้นทางของการเป็นนักฟุตบอล

ถ้าเด็กคนไหนเกิดในครอบครัวที่มีฐานะ ก็ถือว่าโชคดี … สุดสัปดาห์พวกเขายังได้โอกาสไปเรียนฟุตบอล มีสนามฟุตบอลให้เล่น ได้ฝึกฝีเท้าพร้อมที่จะล่าตามฝันของตัวเองต่อไป

แต่กับเด็กที่ไม่มีฐานะ พวกเขามีอะไรมาสนับสนุนบ้าง เด็กหลายคนไม่มีเงินแม้กระทั่งจะซื้อลูกฟุตบอลเป็นของตัวเอง, บางคนไม่มีเงินซื้อรองเท้าสตั๊ด หรือบางคนก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะใกล้บ้านให้พวกเขาได้เล่นฟุตบอลแบบไม่มีค่าใช้จ่าย จะไปเสียเงินเช่าสนามเตะ ก็แพงเกินไปที่ครอบครัว จะรองรับไหว

ที่ผมจะสื่อคือ มีอุปสรรคมากมายที่ขัดขวางความฝันของเด็กไทยที่อยากจะเป็นนักฟุตบอล มันกลายเป็นการเล่นเกมที่ “ใครมีต้นทุนมากกว่า ก็มีโอกาสมากกว่า” ซึ่งไม่ส่งผลดีกับฝ่ายไหนทั้งนั้น 

การที่เด็กไทยจำนวนมากไร้โอกาสเป็นนักฟุตบอล เพราะข้อจำกัดเรื่องฐานะ, พื้นที่, องค์ความรู้ ฯลฯ คือการเสียโอกาสจำนวนมากที่ประเทศไทยจะได้นักฟุตบอลฝีเท้าดีเข้าสู่วงการ

think curve

ในขณะที่เด็กจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ, เยอรมัน หรือญี่ปุ่น มีโอกาสได้เดินตามฝันเล่นกีฬาที่ตัวเองชอบ เข้าสู่เส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ เพราะมีแรงสนับสนุนจากสังคม 

ยิ่งญี่ปุ่นยิ่งดีมาก ในทุกพื้นที่ของเมือง พวกเขาจะมีพื้นที่สาธารณะเพื่อเล่นกีฬา ทุกสุดสัปดาห์จะมีการรวมตัวเป็นชมรมของเด็ก ๆ ในชุมชนมาเล่นกีฬา และมีผู้ใหญ่มาคอยสอนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย เรื่องนี้ผมเห็นมากับตาตัวเอง และถ้าคุณเดินทางไปญี่ปุ่น และลองไปย่านชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่จริง ๆ (ไม่ใช่ย่านนักท่องเที่ยว) คุณก็จะได้เห็นภาพแบบนั้นเช่นกัน 

จะได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้มีโอกาสเดินทางตามฝัน ถ้าความสามารถของเด็ก ๆ ไม่มากพอจะเป็นนักบอลอาชีพ อย่างน้อยพวกเขาก็รู้สึกว่าได้สู้จนสุดทาง ได้ทำโดยไม่มีอะไรต้องเสียใจ 

ขณะเดียวกันวงการฟุตบอลก็ไม่ต้องทิ้งใครไว้กลางทาง ไม่ได้ปิดโอกาสด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ จนเด็กหลายคนหมดสิทธิ์เป็นนักฟุตบอล เพราะมีสิ่งแวดล้อมที่คอยสนับสนุนเด็ก ๆ อยู่เสมอ

ญี่ปุ่นไม่ได้พัฒนาวงการฟุตบอลอย่างรวดเร็ว เพราะแผนการที่ดีอย่างเดียว แต่พวกเขาเข้าใจจริง ๆ ว่า จะมีวงการฟุตบอลที่แข็งแกร่ง ต้องพัฒนาเยาวชนในประเทศให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะยิ่งมีเด็กเล่นฟุตบอลมาก ก็เท่ากับว่ายิ่งมีเด็กเก่งมากขึ้น และยิ่งมีเด็กเก่งเยอะเท่าไหร่ ความแข็งแกร่งของฟุตบอลในประเทศก็จะตามไปด้วย แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น ต้องมอบโอกาสให้เด็ก ๆ เป็นนักฟุตบอลให้ได้มากที่สุดเสียก่อน 

Nuttanon Chankwang

Nuttanon Chankwang

แต่กลับไม่ใช่ที่ประเทศไทย เด็กหลายคนไม่ได้รับโอกาสอะไรทั้งนั้นในชีวิต … นึกภาพว่ามีเด็กกี่คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชนบท พวกเขามีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลกันมากมายกี่คน แต่ด้วยชีวิตของเด็กส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลของเด็ก ๆ หลายคน ถูกปิดตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำ เนื่องจากปัญหาทางฐานะ

Scroll to Continue with Content

อีกทั้งประเทศไทยของเรา ไม่มีรัฐสวัสดิการมาช่วยสนับสนุนเด็ก ๆ เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่ดีพร้อมแบบประเทศแถบสแกนดิเนเวียร์ ซึ่งมีศูนย์กีฬาอยู่ในแทบทุกชุมชนมาคอยสนับสนุน … แต่เด็กไทยไม่มีอะไรเลย ถ้าใครโชคดีมีผู้ใหญ่ใจดีมาสนับสนุนก็ดีไป แต่ถ้าใครไม่มี ความฝันของพวกเขาก็ไม่มีทางเป็นจริง

พื้นที่สาธารณะของไทยก็มีปัญหา ลานกีฬาในชุมชนของหลายพื้นที่ ไม่ได้มีพื้นที่เป็นลานกีฬาจริง ๆ แต่บ้างกลายเป็นลานจอดรถ, บ้างกลายเป็นแหล่งมั่วสุม, บางที่ก็เป็นถึงขั้นสถานที่ส่งยาเสพติดด้วยซ้ำไป

เพราะสังคมไทยสร้างลานกีฬาเหล่านี้ไปแบบไม่ได้สนใจจริง สร้างให้แต่ไม่ดูแล ปล่อยทิ้งรกร้าง จนชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ แบบที่ควรจะเป็น นี่คือปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในไทย และไม่มีใครดู ไม่มีใครใส่ใจ 

เด็กไทยจำนวนมากต้องการแค่ “โอกาส” แต่แค่คำว่าโอกาส กลับยากเหลือเกินที่สังคมไทยจะมอบให้พวกเขา

อย่างไรก็ตาม ผมเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์หลังจากได้เห็นโปรเจ็คต์ที่ชื่อว่า “DREAM STADIUM ... สนามของเด็กมีฝัน"

think curve

เพราะข้อแรกคือโปรเจ็คต์นี้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ลานกีฬาในชุมชนของหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ใช่แค่เข้าไปปรับปรุงเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการปรับสนามใหม่ ผ่านลวดลายของการ์ตูน “กัปตันสึบาสะ” การ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักฟุตบอลทั่วโลก 

จากพื้นที่เก่า ๆ ดูไม่น่าออกกำลังกาย ด้วยปัญหาของพื้นที่, ความปลอดภัย และอีกหลายอย่าง สู่สนามที่เต็มไปด้วยตัวละครจากการ์ตูนกัปตันสึบาสะ นี่คือการพลิกโลกสำหรับเด็กหลาย ๆ คน 

เพราะมันไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลตามที่พวกเขาต้องการ มันยังเป็นการเติมความฝันให้กับพวกเขา ที่ได้มีโอกาสร่วมเล่นฟุตบอล กับ “กัปตันสึบาสะ” ที่เป็นลวดลายของสนามฟุตบอล และทุกครั้งที่พวกเขาลงเล่นบนสนามแห่งนี้ อย่างน้อย ๆ พวกเขาก็เชื่อได้จริง ๆ ว่า พวกเขาสามารถเป็นแบบกัปตันสึบาสะได้จริง ๆ พวกเขาสามารถเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ เหมือนกับที่กัปตันสึบาสะเคยสู้ไม่ถอย จนเป็นนักฟุตบอลระดับโลก

รวมถึงยังมีการวาดภาพนักฟุตบอลไทยที่อยู่ในการ์ตูนสึบาสะ นั่นคือ บุญนาค สิงห์ประเสริฐ และ 3 พี่น้องกรสวัสดิ์ ที่สนามชุมชนแฟลตห้วยขวางอีกด้วย

think curve

นอกจากนี้ในโปรเจ็คต์ DREAM STADIUM ยังได้มีการจัดแข่งขัน ตามชุมชนต่าง ๆ ที่ได้เข้าไปพัฒนาสนาม เพื่อให้เด็ก ๆ ในชุมชน มีโอกาสได้ลงแข่งขันฟุตบอลจริง ซึ่งนั่นก็คือโอกาสที่จะทำให้พวกเขาได้เก็บประสบการณ์พัฒนาฝีเท้าไปด้วย

รวมถึงยังมีการแจกลูกฟุตบอล, เสื้อฟุตบอล และขนมให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้พวกเขาได้เห็นด้านดีของการเป็นนักฟุตบอล และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาส สร้างความฝันให้กับเด็ก ๆ เยาวชนกันต่อไป

เด็กไทยไม่ได้ต้องการอะไร มากไปกว่า “ความฝันและโอกาสที่จะได้เดินตามความฝัน” ซึ่งถูกมองข้ามมายาวนาน แต่ผมได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้วว่า ถ้าโปรเจ็คต์ DREAM STADIUM เป็นภาพที่ดีที่แสดงให้เห็นได้ว่า เราทุกคนก็ช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กไทย และวงการฟุตบอลไทยไปพร้อม ๆ กันได้

ผมว่านี่เป็นเรื่องที่น่าใจไม่น้องทีเดียว

think curve

ใครที่สนใจโปรเจ็คต์ DREAM STADIUM ก็สามารถเดินทางไปที่ชุมชน ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแฟลตห้วยขวาง ชุมชนเชื้อเพลิง และ ชุมชนเคหะ คลอง 6 จังหวัดปทุมธานี กันได้เลย

รวมถึงติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Think Curve - คิดไซด์โค้ง 

มาร่วมด้วยช่วยกัน สร้างโอกาสให้กับเยาวชน เพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลไทยไปพร้อม ๆ กัน