เปิดเบื้องหลัง : เงินอเมริกันกำลังบงการฟุตบอลยุโรปอย่างไร?

04-24-2024
3นาทีที่อ่าน
Getty Images

ทุกวันนี้ ฟุตบอลกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลักพันล้านยูโร เมื่อมีประตูเกิดขึ้นสักลูกในลาลีกา โกลด์แมน แซคส์ จะได้เงินมากกว่า 170,000 ยูโร และนั่นเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

สนามใหม่เรอัล มาดริด, หนี้ของบาร์เซโลนา, ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ลีก หรือแม้แต่การซื้อขายของเชลซี ล้วนแล้วแต่มีเงินของอเมริกาเข้ามาชักใยทั้งสิ้น

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำไมลีกใหญ่ๆ ของยุโรปกำลังอยู่ในเงื้อมมือการควบคุมของธนาคารอเมริกัน ติดตามได้ที่นี่

เงินกับธุรกิจฟุตบอล

ฟุตบอลไม่ได้มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมากขนาดนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม เซอร์ สแตนลีย์ แมทธิวส์ นักเตะคนแรกที่ได้รางวัลบัลลงดอร์ มีค่าเหนื่อยเพียง 15 ปอนด์ต่อสัปดาห์เท่านั้น บรรดานักเตะชั้นนำหลายคนเล่นฟุตบอลเป็นอาชีพเสริมด้วยซ้ำ ตอนที่สจ๊วต เพียร์ซ ย้ายไปอยู่กับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในปี 1985 เขายังทำงานเป็นช่างไฟ และโฆษณางานของตัวเองในหนังสือโปรแกรมประจำสัปดาห์ของสโมสรอยู่เลย

ในตอนแรกๆ คนในแวดวงฟุตบอลไม่ได้มีเงินมากมายนัก จนทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีการก่อตั้งพรีเมียร์ลีก สโมสรในอังกฤษมีปากเสียงเรื่องสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากขึ้น และทำให้พวกเขาได้เงินจากตรงนี้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลเพียงชั่วข้ามคืน

โดยทั่วๆ ไป สโมสรจะได้เงินจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ การขายตั๋ว, ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และดีลคอมเมอร์เชียลต่างๆ 

ในช่วงแรกเริ่ม การขายตั๋วถือเป็นรายได้หลักของสโมสรต่างๆ ทั่วโลกที่มีมาแต่เนิ่มนาน อย่างไรก็ดี สนามนั้นมีความจุจำกัด และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะขยายเพิ่มเติมหรือสร้างใหม่ให้มีความจุมากขึ้น เพราะต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก

ดีลคอมเมอร์เชียล คือเงินก้อนต่อมาที่เข้ามามีบทบาทในวงการฟุตบอล ผ่านสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อ และโฆษณาในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมีส่วนทำให้สโมสรมีฐานแฟนบอลที่เติบโตขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเคยเป็นเงินก้อนที่เล็กที่สุดจากรายได้ทั้ง 3 ส่วนของสโมสรฟุตบอล จนเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น การชมฟุตบอลผ่านโทรทัศน์เริ่มเติบโตจนเข้าถึงคนทั่วโลกได้พร้อมกัน พรีเมียร์ลีกเคยออกมาบอกว่าพวกเขามีคนดูเกือบ 5 พันล้านคน ทำให้มูลค่าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงลีกยอดนิยมต่างๆ ทั่วยุโรป

รายได้จากการถ่ายทอดสดกลายเป็นรายได้หลักที่มีมูลค่ามากที่สุดของสโมสรฟุตบอล 5 ลีกใหญ่ของยุโรปมีรายได้รวมต่อปีเพิ่มขึ้นถึงมากกว่า 1000% ภายในช่วงเวลาไม่ถึง 20 ปี

แต่การเล่นในระดับสูงก็ตามมาด้วยต้นทุนที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในปี 1984 นักเตะในลีกสูงสุดของอังกฤษมีรายได้เฉลี่ยอยู่ราวๆ 25,000 ปอนด์ต่อปี ก่อนจะมาเป็น 3 ล้านปอนด์ปอนด์ต่อปีในทุกวันนี้ สโมสรจำนวนมากในยุโรปใช้เงินรายได้ของพวกเขาเกินครึ่งหนึ่งไปกับการจ่ายเงินเดือนให้นักเตะ เช่นเดียวกับค่าตัวของนักเตะที่พุ่งทะยานไปแบบไม่มีใครมองเห็นว่ามันจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

อย่างไรก็ดี การซื้อขายนักเตะก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่มีสโมสรไหนหลีกเลี่ยงได้ เคยมีงานวิจัยพบว่า ยิ่งสโมสรใช้เงินลงทุนซื้อนักเตะมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลต่อคะแนนที่พวกเขาเก็บได้เมื่อจบฤดูกาลมากเท่านั้น นั่นคือความจริงที่เกิดขึ้นกับฟุตบอลในทุกวันนี้ เงิน=ความสำเร็จ ยิ่งเข้าถึงเงินได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากเท่านั้น

แล้วคุณจะไปเอาเงินมาจากไหน? ถ้าไม่ได้มีเจ้าของทีมเป็นมหาเศรษฐีที่เงินทุนไม่อั้น คำตอบที่ง่ายที่สุดที่ทุกคนนึกออกก็คือธนาคาร

เจพี มอร์แกน และ โกลด์แมน แซคส์ จอมบงการที่แท้จริงของวงการฟุตบอล

ทุกวันนี้ เจพี มอร์แกน และโกลด์แมน แซคส์ สองบริษัทการเงินสัญชาติอเมริกัน มีทรัพย์สินในมือรวมกันถึงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ ด้วยเงินก้อนนี้ คุณสามารถเรียงธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ขึ้นไปถึงดวงจันทร์ แล้วยังเหลือเงินในมืออยู่อีก 250 ล้านดอลลาร์ 

พวกเขาลงทุนไปกับทั้งลูกเทนนิส, จรวดมิสไซล์ระยะไกล ไปจนถึงเมื่อไม่นานมานี้ พวกเขาก็เริ่มเข้ามาจับตามองวงการฟุตบอล ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่าเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน

สนามฟุตบอลใหม่ของเรอัล มาดริด ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก เจพี มอร์แกน, สนามใหม่ของบาร์เซโลนา ก็เจพี มอร์แกน กับ โกลด์แมน แซคส์, เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ อยากจะซื้อแมนฯ ยูฯ หรือท็อดด์ โบห์ลี ซื้อเชลซี นั่นก็มาจากสองยักษ์ใหญ่นี้เหมือนกัน

Scroll to Continue with Content

จะเห็นได้ว่าธนาคารลงทุนไปกับฟุตบอลมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลัง แล้วพวกเขาได้อะไรกลับคืนมาจากการลงทุนเหล่านี้?

ทำไม เจพี มอร์แกน และโกลด์แมน แซคส์ หันมาหลงรักฟุตบอล?

สองบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเงินของโลก มองว่าฟุตบอลทุกวันนี้มีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง เหตุผลของมันก็ง่ายๆ คือ 5 ลีกใหญ่ของยุโรปมีฐานแฟนมากที่สุดในแวดวงกีฬา แต่พวกเขาก็ยังทำงานได้น้อยกว่า NFL แถมพรีเมียร์ลีกที่มีคนดูมากที่สุดในโลก ก็ยังทำเงินน้อยกว่า NFL ถึงกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

การแข่งขัน NFL 1 เกม มีคนดูอยู่ที่ประมาณ 70,000 คนในสนาม ขณะที่พรีเมียร์ลีก มีคนดูราวๆ 40,000 คน และเหตุผลไม่ใช่ว่าพรีเมียร์ลีกมีคนดูน้อยกว่า เพียงแค่พวกเขามีสนามที่เล็กกว่า เมื่อเทียบกับทีมใน NFL

ทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ทางเดียวก็คือสร้างสนามใหม่ ซึ่งไม่เพียงแค่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แต่ยังต้องสารพัดประโยชน์มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้สโมสรทำเงินด้วยการใช้สนามของตัวเองจัดกิจกรรมอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่นคอนเสิร์ต หรืออีเวนท์กีฬาประเภทต่างๆ นอกเหนือจากฟุตบอล

ซูเปอร์โบลว์ 2024 ที่ผ่านมา มีคนดูราวๆ 200 ล้านคน ขณะที่เอล กลาซิโก้ มีคนดูมากกว่าเกินสามเท่า คือ 650 ล้านคน แต่ซูเปอร์โบลว์กลับทำเงินจากการถ่ายทอดสดได้มากกว่า นั่นคือสาเหตุที่บริษัทการเงินทั้งสองแห่งมองว่ามูลค่าของฟุตบอลยุโรปในทุกวันนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก และเข้ามาลงทุนทั้งในเรื่องสนาม รวมถึงลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของฟุตบอลยุโรปทุกวันนี้

ธนาคารเข้ามาบงการฟุตบอลยุโรปอย่างไร?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าเงินของอเมริกันกำลังไหลเข้ามาในวงการฟุตบอลยุโรปเป็นจำนวนมาก แต่เงินเหล่านี้ไม่มีทางที่จะได้มาแบบฟรีๆ มันมาพร้อมกับอำนาจมหาศาลที่จะควบคุมทิศทางวงการฟุตบอลให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ

เมื่อมีการซื้อขายสโมสรใดๆ เกิดขึ้นในยุโรป โดยส่วนมากก็มักจะเป็นสองบริษัทนี้ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และกำหนดทิศทางในการซื้อขาย พวกเขามีสิทธิตัดสินใจว่าจะให้ใครเป็นคนเข้ามาซื้อ, จะให้ใครคุยกับใคร และเมื่อไหร่

แม้จะดูเหมือนว่าทั้งสองบริษัทจะวางตัวเป็นกลาง ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายใดๆ ที่เกิดขึ้น แต่พวกเขาก็ยังเป็นคนถืออำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่อยู่ดี

นักธุรกิจที่มีความต้องการจะเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่ มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเหล่านี้ การตัดสินใจว่าจะตอบรับหรือปฏิเสธการให้ยืมเงิน คือปัจจัยชี้ขาดที่จะตัดสินได้อย่างชัดเจนว่าใครจะกลายเป็นเจ้าของทีมคนต่อไป

เมื่อมีเจ้าของสโมสรคนใหม่อยู่ในกำมือ พวกเขายังมีอำนาจเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ เช่น สิทธิ์ในการโหวตเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ภายในลีก ทั้งดีลสปอนเซอร์, พาร์ทเนอร์ชิพ หรือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด

ความสัมพันธ์ใหม่ที่เกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอล สโมสรและลีกหลายแห่งเป็นหนี้ของธนาคารเหล่านี้ แผนการชำระหนี้คืนย่อมต้องตามมาด้วยแรงกดดันที่จะทำรายได้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในนโยบายเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าตั๋ว หรือการเซ็นสัญญานักเตะ

ทั้งหมดนี้มาจากความคิดพื้นฐานที่ว่า ฟุตบอลทุกวันนี้มูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง พวกเขายังทำเงินได้มากกว่านี้ และมันคงไม่มีทางหายไปง่ายๆ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

ร่วมสนุกลุ้นรางวัลพร้อมโบนัสก้อนใหญ่

ลุ้นโชคที่นี่! ทายผลฟุตบอลประจำวันกับเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือที่สุด

ติดตามบทความและข่าวสารกีฬาอื่นๆของเรา

Facebook : https://www.facebook.com/TheSportingNewsTH
Instagram : https://www.instagram.com/thesportingnews_th
Tiktok : https://www.tiktok.com/@thesportingnewsthailand