บริดเจอร์เวต : พิกัดมวยรุ่นล่าสุดที่เกิดจากความกล้าหาญของเด็ก 6 ขวบ

10-05-2022
2นาทีที่อ่าน

เมื่อปี 2020 สภามวยโลก (WBC) ได้ประกาศพิกัดรุ่นที่ 18 ซึ่งอยู่ระหว่าง 200-224 ปอนด์ (90.7-101.6 กิโลกรัม) และตั้งชื่อตามเด็กชายวัย 6 ขวบที่สร้างวีรกรรมช่วยเหลือน้องสาวของเขาว่า “บริดเจอร์เวต”


บริดเจอร์เวต มีความเป็นมาอย่างไร? จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติอย่างเดียวหรือไม่? The Sporting News มีคำตอบให้กับคุณ

พิกัดมวยครั้งอดีต

เมื่อ 100 กว่าปีก่อน มีพิกัดมวยที่เรียกว่ารุ่นคลาสสิกทั้งหมด 8 รุ่น ได้แก่ เฮฟวี่เวต, ไลฟ์เฮฟวี่เวต, มิดเดิ้ลเวต, เวลเตอร์เวต, ไลต์เวต, เฟเธอร์เวต, แบนตั้มเวต และฟลายเวต ก่อนที่จะมีการกำหนดน้ำหนักของแต่ละรุ่นและขยายออกมาเป็น 17 รุ่นตามกฎของวอล์กเกอร์ในปี 1920

เด็กชายผู้กล้าหาญจนประธานประทับใจ

กลางปี 2020 ในขณะที่โลกกำลังวุ่นวายกับการต่อสู้กับโควิด-19 เด็กชายบริดเจอร์ วอลเกอร์ วัย 6 ขวบ และน้องสาววัย 4 ขวบ กำลังเล่นอยู่หลังบ้าน ขณะนั้นได้มีสุนัขพันธุ์เยอรมัน เชพเพิร์ดหลุดเข้ามา บริดเจอร์จึงเอาตัวเข้าปกป้องน้องสาว จนโดนกัดเข้าที่ใบหน้าและศีรษะ และต้องเย็บแผลมากกว่า 90 เข็ม ซึ่งบริดเจอร์ได้ให้เหตุผลในการป้องกันน้องสาวของเขาว่า “หากมีใครสักคนต้องตาย คนนั้นควรเป็นผม”

ความกล้าหาญของบริดเจอร์ได้รับรู้ไปถึงบุคคลสำคัญในวงการต่างๆหลายคน ไม่ว่าเป็นคริส อีแวนส์ (กัปตันอเมริกา), ทอม ฮอลแลนด์ (สไปเดอร์แมน), โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (ไอรอนแมน)ต่างมอบของขวัญเป็นกำลังใจให้เด็ดชายบริดเจอร์ รวมไปถึงเมาริซิโอ สุไลมาน ประธานสภามวยโลก ได้มอบเข็มขัดแชมป์โลกกิตติมศักดิ์และจารึกชื่อเขาเป็น “ชายที่แข้งแกร่งที่สุดในโลก” 

พิกัดรุ่นที่ 18 และแชมป์โลกคนแรก

หลังจากที่ได้มีการมอบแชมป์โลกใหักับบริดเจอร์ ได้มีการประชุมกันเพื่อจัดตั้งพิกัดรุ่นใหม่เป็นรุ่นที่ 18 และนำชื่อของบริดเจอร์มาตั้งเป็นพิกัดรุ่นน้ำหนักระหว่าง  200-224 ปอนด์ (91-102 กิโลกรัม) ว่า “บริดเจอร์เวต” ในเดือนพฤศจิกายน 2020

เมื่อมีการจัดตั้งรุ่นใหม่แล้ว จึงได้จัดลำดับผู้มีสิทธิ์ชิงแชมป์โลกในรุ่นนี้ โดยกำหนดให้ออสการ์ ริวาสนักชกโคลอมเบียน-แคนาเดียน เป็นผู้มีสิทธิ์อันดับ 1 


จากนั้นจึงได้มีการศึกชิงแชมป์โลกรุ่นบริดเจอร์เวตเป็นครั้งแรกในวันที่ 22 ตุลาคม 2021 ระหว่างริวาสกับไรอัน โรซิคกี้ ที่มอนทรีออล ประเทศแคนาดา และเป็นริวาสที่ชนะคะแนน คว้าแชมป์รุ่นบริดเจอร์เวตไปครองเป็นคนแรก

Scroll to Continue with Content

เพิ่มพิกัดเป็นห่วงสุขภาพ

เมาริซิโอ สุไลมาน ได้ให้เหตุผลในการเพิ่มพิกัดน้ำหนักรุ่นบริดเจอร์เวตนั้น ไม่ได้เพิ่งมีในยุคของเขา โดยโฮเซ่ สุไลมาน บิดาของเมาริซิโอ และอดีตประธานสภามวยโลก ได้มีแผนที่จะเพิ่มพิกัดน้ำหนักตั้งแต่สมัยเขาดำรงตำแหน่งเพื่อนักมวยได้รับความปลอดภัยและลดความเสี่ยงก่อนขึ้นชก จากการเพิ่มหรือลดน้ำหนัก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการชกในไฟต์นั้นๆอีกด้วย

ครั้งหนึ่งโฮเซ่ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับรูเบน “ปูอาส” โอลิวาเรส นักชกชาวเม็กซิโกให้กับเมาริซิโอได้ฟัง ดังนี้

“ปูอาสพยายามทำน้ำหนัก ก่อนชั่งในวันชก โดยรับประทานแค่ผักกาดตลอดสัปดาห์ และน้ำเปล่าวันละแก้วเท่านั้น”

“คืนก่อนชก เขานอนไม่หลับเพราะอาหารขาดน้ำ เขาลุกขึ้นจากเตียงแล้วซัดน้ำรดเดียวหนึ่งเหยือก ในวันชกเขาน้ำหนักเกินพิกัก 3 กิโลกรัม โค้ชจึงหาวิธีลดน้ำหนักโดยการใส่เสื้อสามชั้น มัดด้วยยาง ทิ้งเขาไว้ในรถท่ามกลางแดดอันร้อนระอุของเม็กซิโกเป็นเวลา 20 นาที”

อีกสาเหตุหนึ่ง ที่มีการเพิ่มรุ่นพิกัดรุ่นบริดเจอร์เวต เนื่องจากพิกัดในแต่ละรุ่นเปลี่ยนไปยุคสมัยที่แตกต่างกัน อย่างรุ่นเฮฟวี่เวต เริ่มต้นที่ 160 ปอนด์ (72.6 กิโลกรัม) ในปี 1783 ก่อนขึ้นมาเป็น 168 ปอนด์ (76.2 กิโลกรัม)ในปี 1909 และเพิ่มขึ้นมาจนเริ่มต้นที่ 200 ปอนด์ (91 กิโลกรัม) ในปี 2003

การเพิ่มฐานน้ำหนักในรุ่นเฮฟวี่เวต ทำให้รุ่นอื่นๆต้องเขยิบพิกัดน้ำหนักขึ้นมา อย่างเช่นรุ่นครุยเซอร์เวตที่กำเนิดขึ้นในปี 1979 อยู่ในที่ระดับน้ำหนัก 175-190 ปอนด์ (79.4-86.2 กิโลกรัม) ก่อนยกระดับมาที่ 175-200 ปอนด์ (79.4-90.7 กิโลกรัม) ในปี 2003 

ปฏิกิริยาจากสมาคมอื่นๆ

นอกจาก WBC แล้ว ทั้ง WBA, WBO และ IBF ต่างไม่มีกำหนดการที่จะตั้งพิกัดรุ่นนักมวยใหม่แต่อย่างใด

จากความกล้าหาญของเด็กชายวัย 6 ขวบ สู่พิกัดน้ำหนักใหม่เพื่อให้นักมวยไม่ต้องเพิ่มหรือลดน้ำหนักอย่างหักโหม จนทำให้คุณภาพของนักมวยและการชกลดลง ต้องขอบคุณบริดเจอร์ วอลเกอร์และเมาริซิโอ สุไลมาน ที่พยายามหาทางเลือกใหม่ๆที่ทำให้วงการมวยมีสีสันมากขึ้น