บาสเกตบอล NBA .นยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยเหล่าสตาร์จอมแม่นระยะ 3 แต้มมากมาย ทั้ง สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ และ เคลย์ ทอมป์สัน คู่หูจากทีมโกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส, เทร ยัง การ์ดจากแอตแลนต้า ฮอว์กส์ หรือ ดาเมียน ลิลลาร์ด จอมทัพตัวเก๋าของ พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส นี่ยังไม่นับรวมตัวสตาร์ชั้นรองที่มีความแม่นเป็นอาวุธ และไหนจะกลุ่มผู้เล่นวงไหนที่หันมายิงวงนอกกันแม่นเต็มลีกไปหมด
อย่างไรก็ตามหากเราย้อนกลับไปบาสเกตบอลยุค 90s อาวุธ 3 คะแนน ไม่ใช่สิ่งที่แพร่หลายนัก และ จะมีนักบาสเพียงไม่กี่คนที่ขึ้นชื่อกับการเป็นจอมมือปืน 3 คะแนนของลีก หนึ่งในนั้นคือ เรจจี้ มิลเลอร์ ตำนานของทีมอินเดียนา เพเซอร์ส
เรจจี้ มิลเลอร์ ชายผู้ทำให้เหนือเส้นโค้งไม่เคยปลอดภัย
หากใครติดตามบาสเกตบอลมายาวนาน และ ทันยุคที่ เรจจี้ ลงเล่น ก็จะทราบดีว่าความแม่นของเขา รวมถึงการหาพื้นที่เพื่อได้ชู้ต และความเร็วในการปล่อยบอล ยอดเยี่ยมขนาดไหน
แม้กระทั่ง สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ ราชาแห่งการชู้ตสามคะแนน และเป็นผู้เปลี่ยนรูปแบบการเล่นของ NBA จากอิทธิพลการเล่นของเขายังเคยให้สัมภาษณ์ยกย่อง มิลเลอร์ ไว้มากมาย
“หนึ่งในผู้เล่นที่เป็นแบบอย่างให้กับผม เป็นตำนานของลีก, ฮอลออฟเฟม และ ออลสตาร์ เขาคือ มิสเตอร์ เรจจี้ มิลเลอร์” เคอร์รี่ เผยผ่านการให้สัมภาษณ์องเขา กับ Ballislife
“ผมคิดว่าทุกคนมักพูดถึงจอมแม่นที่สุดตลอดกาลในบทสนทนาเรื่องบาสเกตบอล ผมนับถือ เรจจี้ และ เรย์ (อัลเล่น) เขาคือชายสองคนที่สร้างมาตรฐานของการเป็นชู้ตเตอร์ ทั้งคู่สามารถลงเล่นได้ยืนยาวด้วย นั่นทำให้ผมรู้สึกอยากเป็นแบบนั้น การรักษาปริมาณและประสิทธิภาพในการชู้ตต่อไป” อีกหนึ่งคำให้สัมภาษณ์ของ เคอร์รี่ เกี่ยวกับชายที่เขามองว่าเป็นมือปืนสามแต้มที่ยิ่งใหญ่สุดของลีก
อย่างที่กล่าวไปนอกจากต้นแบบความแม่น มิลเลอร์ ยังมีทักษะในการทำให้ตัวเองอยู่ในพื้นที่ว่างเสมอ แม้บางจังหวะอาจไม่ใช่การเปิดพื้นที่ แต่ระดับความแม่นยำบวกกับความมั่นใจ ทำให้ช่องว่างเพียงเล็กน้อย กลายเป็นการส่งบอลระยะ 3 แต้มลงห่วงได้
ด้วยรูปร่างที่ผอมบาง ทำให้วิธีการเอาตัวรอดจากการต่อสู้กับผู้เล่นที่มีร่างกายแข็งแกร่งกว่าของมิลเลอร์ เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจและศึกษาสำหรับผู้เล่นตัวเล็ก หรือ มือปืนที่ไม่ได้มีร่างกายเอาไว้ปะทะวัดกล้ามอะไรมากนัก
“ผมไม่เคยเกลียดใครในลีกเลยนะ แต่การดวลกับมิลเลอร์ทำให้ผมแทบบ้า” ไมเคิล จอร์แดน ตำนานของลีก NBA ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ESPN “เกมของเขามีอะไรที่พลิกแพลงเต็มไปหมด คือ เขาหนัก 185 ปอนด์ ส่วนผมหนัก 215 ปอนด์ เวลาผมป้องกันเขาต้องระวังเป็นพิเศษ ไม่งั้นจะเสียฟาวล์ แต่พอผมต้องการจะดันเขาออกจากพื้นที่มือของเขาก็จะโอบหรือป่วนอยู่บนร่างกายผมตลอดเวลา บางทีผมอยากจะทุบมือเขาออกไปมาก มันผิดกฎและกวนใจเวลาผมเล่นจริงๆ”
จอร์แดน คือ หนึ่งในคู่ปรับที่มีโอกาสลงสนามแล้วดวลกับ มิลเลอร์ บ่อยพอสมควร ด้วยความที่ บูลส์ และ เพเซอร์ส คือทีมในสายตะวันออก การเจอกันที่บ่อยทั้งในฤดูกาลปกติ และ เกมรอบเพลย์ออฟ จึงไม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม “เอ็มเจ” ยอมรับว่า เพเซอร์ส ที่มี มิลเลอร์ นำทัพ คือทีมแข็งแกร่งที่ประมือด้วยยาก แม้กระรอบชิงแชมป์สายตะวันออกปี 1998 ซีรี่ส์นั้นก็ลากยาวกันถึง 7 เกม
“ถ้าจะให้ผมเลือกทีมที่รู้สึกว่าทำให้พวกเขาลำบากในสายตะวันออก อินเดียนา คือทีม ๆ นั้น นอกเหนือจาก ดีทรอยท์” จอร์แดน เล่าใน The Last Dance สารคดี เรื่องราวชีวิตของเขา
การป้องกัน มิลเลอร์ คือสิ่งที่ยาก จนบางครั้งก็ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า หากเขาเกิดช้ากว่านี้และมาเล่นในยุคปัจจุบัน ที่ผลักดันจอมชู้ต 3 คะแนนให้โดดเด่น ฟอร์มและผลงานของเขาจะเป็นอย่างไร
แต่หากจะมีใครสักคน สามารถพรรณาความอันตราย และ ฤทธิเดช ของ มิลเลอร์ ได้ดีที่สุดละก็ ของหนีไม่พ้น ทีมนิวยอร์ก นิกส์ ชุด 1992
8 แต้ม ใน 9 วินาที กับฉายา “The Knick Killer”
นิวยอร์ก นิกส์ คือทีมที่ต้องปะทะกับ อินเดียนา เพเซอร์ส มากถึง 6 ครั้ง เป็นจำนวนทั้งหมด 19 เกม ในยุค 90s ซึ่ง มิลเลอร์ มักสร้างงานตึง ๆ ให้กับ นิกส์ ได้อยู่เสมอ
ปี 1993 เพเซอร์ส กวาดซีรี่ส์ใส่ และ มิลเลอร์ ทำเฉลี่ย 31.5 แต้ม ถัดมาปี 1994 พวกเขาเฉือนชนะ นิกส์ ซึ่งสภาพทีมดูดีกว่า 3-2 เกม เช่นเดียวกับ ปี 1995 ที่พวกเขาเฉือนชนะ 4-3 เกม
ตามด้วยปี 1998 นิกส์ ชนะใน 5 เกม โดย มิลเลอร์ เป็นตัวสกอร์สูงสุดของซีรี่ส์นั้น , ปี 1999 คือ ครั้งแรกที่ นิกส์ ปราบ เพเซอร์ส ได้แต่ก็ไปตายรอบชิงชนะเลิศให้กับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส และ หนสุดท้ายปี 2000 กลายเป็นการเอาคืนของ เรจจี้ และ เพเซอร์ส ที่โค่น นิกส์ ลงใน 6 เกม แต่พวกเขาก็ไปแพ้ในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเป็นการทะลุเข้าชิงหนเดียวของทีม ต่อ แอลเอ เลเกอร์ส
แต่เหตุการ์ที่หลายคนจดจำ คงหนีไม่พ้น ปี 1995 กับการทำ 8 แต้ม ในช่วง 8.9 วินาทีสุดท้าย ที่ เมดิสัน สแควร์ การ์เด้น ซึ่งเป็นเกมเพลย์ออฟรอบรองชนะเลิศสายตะวันออกเกมที่ 1
ในขณะที่ นิกส์ ขึ้นนำ เพเซอร์ส 105-99 คะแนน เมื่อเหลือเวลาแข่งขัน 18.7 วินาที หลังการขอเวลานอกปาฏิหาริย์แห่งวงการ NBA ก็เกิดขึ้น
ท้ายสุดกลายเป็น เพเซอร์ส ที่พลิกนรกกลับมาชนะ 107-105 คะแนน ขึ้นแท่นนำซีรี่ส์นั้นไป 1-0 เกม และนี่คือเกมสำคัญมาก เพราะท้ายสุดพวกเขาเฉือนนิกส์ ในซีรี่ส์นี้ 4-3 เกม (หาก มิลเลอร์ ไม่ได้ช่วยทีมพลิกเกม 1 พวกเขาอาจร่วงตั้งแต่รอบนี้)
อย่างไรก็ดี ความสุดยอดของ มิลเลอร์ ดันไปไม่สุด เพราะเขาไม่เคยสัมผัสกับคำว่าแชมป์ NBA เลยแม้แต่คนเดียว ต่างจาก เรย์ อัลเลน มือปืนร่วมยุคที่เคยทำสำเร็จถึง 2 หน ในช่วงบั้นปลายอาชีพ
เรจจี้ มิลเลอร์ ตำนานไร้มงกุฎของลีก NBA
แม้จะล้มเหลวกับการคว้าแชมป์ แต่ มิลเลอร์ คือตำนานของทีมเพเซอร์ส แบบไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะกับการอุทิศช่วงเวลา 18 ปี ในลีกกับทีม ๆ เดียว พร้อมกับรางวัลความสำเร็จส่วนตัวอีกมากมาย รวมถึงการเข้าคลับ 50-40-90 หมายถึงผู้เล่นที่จบฤดูกาลด้วยการชู้ตลง 50% ระยะ 3 คะแนนลง 40% และ ลูกโทษลง 90% เป็นคนที่สามในประวัติศาสตร์ NBA เมื่อปี 1994 อีกด้วย
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เขาจารึกชื่อตัวเองลงไปสำหรับการเป็นตำนานของทีมเพเซอร์ส คือ การครองตำแหน่งผู้เล่นทำแต้มในเกมเดียวสูงสุดของทีมเอาไว้ โดยเกมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1992 (ตามเวลาประเทศไทย)
เพเซอร์ส ลงสนามเจอกับ ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ ซึ่งมี อลอนโซ่ มอร์นิ่ง และ มักซี่ โบ๊ก นำทัพ ท้ายสุดพวกเขาเอาชนะไปได้ 134-122 คะแนน ภายใต้ฟอร์มสุดยอดของ มิลเลอร์ ที่กดคนเดียว 57 แต้ม จากการชู้ตลงห่วง 16 จาก 29 ครั้ง นั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีผู้เล่นเพเซอร์ส คนไหนทำลายลงได้จนถึงทุกวันนี้
ทำเนียบทำแต้มสูงสุดของ เพเซอร์ส
ผู้เล่น | วันที่ | ทีมที่ลงแข่ง | จำนวนแต้มที่ทำได้ |
เรจจี้ มิลเลอร์ | 29/11/1992 | ฮอร์เน็ตส์ | 57 |
เจอร์เมน โอนีล | 5/1/2005 | บัคส์ | 55 |
ทีเจ วาร์เรน | 2/8/2020 | ซิกเซอร์ส | 53 |
บิลลี่ ไนท์ | 12/11/1980 | สเปอร์ส | 52 |
พอล จอร์จ | 6/12/2015 | แจ๊ซ | 48 |
วิคเตอร์ โอลาดิโป | 11/12/2017 | นักเก็ตส์ | 47 |
ชัค เพอร์สัน | 1/2/1989 | นิกส์ | 47 |
พอล จอร์จ | 20/3/2016 | ธันเดอร์ | 45 |
ชัค เพอร์สัน | 1/3/1990 | โซนิกส์ | 45 |